ประเพณีแห่ผีตาโขน

 ประเพณีแห่ผีตาโขนประเพณีแห่ผีตาโขน จัดเป็นส่วนหนึ่งในงานบุญประเพณีใหญ่หรือที่เรียกว่า "งานบุญหลวง" หรือ "บุญผะเหวด" ซึ่งตรงกับเดือน 7 มีขึ้นที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และจัดเป็นการละเล่นที่ถือเป็นประเพณีทุกปี เกี่ยวโยงกับงานบุญพระเวสหรือเทศน์มหาชาติประจำปีกับพระธาตุศรีสองรัก ปูชนียสถานสำคัญของชาวด่านซ้าย
      "เทศกาลผีตาโขน"นี้ เป็นส่วนหนึ่งของ "งานบุญหลวง" ซึ่งถือเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของท้องถิ่น โดยรวมเอา "งานบุญพระเวส" ( ฮีตเดือนสี่ ) และ "งานบุญบั้งไฟ" (ฮีตเดือนหก) เข้าไว้ในงานบุญเดียวกัน
      ต้นกำเนิดผีตาโขน
      กล่าวกันว่า การแห่ผีตาโขนเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระเวสสันดรและนางมัทรีจะเดินทางออกจากป่า กลับสู่เมืองบรรดาผีป่าหลายตนและสัตว์นานาชนิดอาลัยรักจึงพาแห่แหนแฝงตัวแฝงตน มากับชาวบ้านเพื่อมาส่งทั้งสองพระองค์กลับเมือง เรียกกันว่า "ผีตามคน" หรือ "ผีตาขน" จนกลายมาเป็น "ผีตาโขน" อย่างในปัจจุบัน  งานบุญพระเวส หรือที่ชาวอีสานเรียกว่า"บุญผะเวด" นั้น เป็นงานบุญที่จัดขึ้นเพื่อฟังเทศน์มหาชาติ ทั้ง 13 กัณฑ์ ซึ่งถือว่าจะได้อานิสงส์แรงกล้า บันดาลให้พบพระศรีอาริยเมตไตรยในชาติหน้า
      ส่วนงานบุญบั้งไฟเป็นงานบุญที่จัดขึ้นเพื่อบูชาอารักษ์หลักเมืองและถือเป็นประเพณีการแห่ขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล
      ในงานบุญหลวงนี้จะมีกองทัพ "ผีตาโขน" ออกวาดลวดลายทั่วเมืองด่านซ้าย ร่วมสร้างความสนุกสนานครื้นเครง
     
      มีความเชื่อว่า "ผีตาโขน" น่าจะเกิดจาก พระเวสสันดรชาดก ตอนที่ว่า
      พระเจ้ากรุงสัญชัย ได้เดินทางสู่เขาวงกต เพื่อกราบบังคมทูลเชิญ พระเวสสันดร และพระนางมัทรี ให้เสด็จออกจาป่าวงกตกลับมาครองราชสมบัติดังเดิม
      พระเวสสันดรจึงทรงรับสั่งให้มีการจัดงานรื่นเริงให้กับชาวบ้านในบริเวณป่าวงกต และด้วยเมตตาธรรมอันยิ่งใหญ่ของพระเวสสันดร เหล่าสรรพสัตว์ และดวงวิญญาณต่าง ๆ ในละแวกนั้นพลอยได้รับผลบุญกันถ้วนหน้า   และในวันที่ พระเวสสันดรเสด็จนิวัติสู่นคร ดวงวิญญาณต่าง ๆ ก็พากันอาลัยรัก และตามมาส่งเสด็จ จนกลายเป็นคำว่า "ผีตามคน" และเพี้ยนเป็น "ผีตาโขน" ในทุกวันนี้
 

 ชนิดของผีตาโขน
      ผีตาโขน ในขบวนแห่จะแยกเป็น 2 ชนิดคือ ผีตาโขนใหญ่และผีตาโขนเล็ก

      ผีตาโขนใหญ่ ทำเป็นหุ่นรูปผีทำจากไม้ไผ่สานมีขนาดใหญ่กว่าคนธรรมดาประมาณ 2 เท่าประดับตกแต่งรูปร่างหน้าตาด้วยเศษวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เวลาแห่ คนเล่นจะต้องเข้าไปอยู่ข้างในตัวหุ่น แต่ละปีจะทำผีตาโขนใหญ่เพียง 2 ตัว คือผีตาโขนชาย1ตัวและหญิง1ตัว สังเกตจากเครื่องเพศปรากฏชัดเจนที่ตัวหุ่น ผู้มีหน้าที่ทำผีตาโขนใหญ่จะมีเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เพราะคนอื่นไม่มีสิทธิ์ทำ การทำก็ต้องได้รับอนุญาตจากผีหรือเจ้าก่อน ถ้าได้รับอนุญาตแล้วต้องทำทุกปีหรือทำติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปี

     ผีตาโขนเล็ก ผีตาโขนเล็กเป็นการละเล่นของเด็ก ไม่ว่าเด็กเล็ก เด็กวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ ทั้งผู้หญิงชาย มีสิทธิ์ทำและเข้าร่วมสนุกได้ทุกคน แต่ผู้หญิงไม่ค่อยเข้าร่วมเพราะเป็นการเล่นค่อนข้างผาดโผนและซุกซน

    การละเล่นผีตาโขน
    เนื่องจากงานประเพณีผีตาโขนเป็นงานบุญใหญ่ซึ่งเรียกกันว่างานบุญหลวง จัดขึ้นที่วัดโพนชัย อ.ด่านซ้าย โดยมีการละเล่นผีตาโขน มีการเทศน์มหาชาติ มีการทำบุญพระธาตุศรีสองรักและงานบุญต่างๆเข้ามาผสมอยู่รวมๆกัน จึงมีการจัดงานกัน 3 วัน

      วันแรก  พิธีเบิกอุปคุต
      จากความเชื่อของชาวอีสานที่ว่า งานบุญใหญ่ใด ๆ มักจะมีมารมาคอยผจญ จึงต้องเชิญพระอุปคุตผู้มีฤิทธิ์มากมาช่วยปราบมาร ดังนั้นจึงต้องมี พิธีเบิกพระอุปคุต ก่อนงานบุญหลวงทุกครั้ง
      โดยปกติพิธีเบิกพระอุปคุตนั้น จะเริ่มตอนใกล้เช้ามืดประมาณตี 3 หรือตี 4 ในการทำพีธีนั้นคณะของแสนทุกคนจะนำอุปกรณ์ที่เตรียมไว้ มีมีด ดาบ หอก ฉัตร ถือเดินนำขบวนจากวัดโพนชัยไปที่ริมฝั่งแม่น้ำหมัน เพื่อเชิญพระอุปคุต (คือก้อนกรวดสีขาว) ในแม่น้ำ
      เล่าขานกันว่าเมื่อมีงานบุญใหญ่โตมักจะมีพวกมารผจญ จึงต้องเชิญพระอุปคุตมาเพื่อช่วยปราบมารให้ราบคาบ เมื่อได้พระอุปคุตแล้วจะนำใส่หาบ เคลื่อนขบวน กลับมาทำพิธีที่หออุปคุต วัดโพนชัยในตอนรุ่งเช้าจะมีขบวนแห่ไปบ้านเจ้าพ่อกวน เพื่อทำพิธี บายศรีสู่ขวัญให้แก่ เจ้าพ่อกวน และเจ้าแม่นางเทียม
      เมื่อได้เวลาอันสมควรเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม คณะแสน นางแต่งบรรดาผีตาโขนใหญ่ ผีตาโขนน้อยทั้งหลาย ตลอดจนขบวนเชิ้ง จะร่วมกันเคลื่อนขบวนแห่ไปยังวัดโพนชัย เวียนรอบพระอุโบสถ 3 รอบ ซึ่งจะมีผีตาโขนเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เที่ยวหลอกล้อผู้คนที่มาร่วมงานอย่างสนุกสนาน


      วันที่สอง   พิธีแห่พระเวส
      จะเป็นวันที่สมมติว่า พระเวสสันดรเสด็จนิวัติสู่พระนคร โดยมีผีต่าง ๆ คอยตามขบวนแห่มาส่งเสด็จ
      บรรดาผีตาโขนจะเริ่มเล่นกันตั้งแต่เช้า ส่วนใหญ่จะรวมเล่นกันอยู่ที่วัดโพนชัย วาดลวดลายเต้นตามจังหวะดนตรีที่สนุกสนานครื้นเครงจนถึงเวลาอันเชิญพระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมือง ( แห่พระเวส ) เมื่อขบวนแห่ถึงวัดโพนชัย จะเดินเวียนรอบโบสถ์ 3 รอบ ในระหว่างเคลื่อนขบวนจะมีการโปรยกัลปพฤกษ์ ซึ่งก็คือเหรียญเงิน เหรียญทอง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะแย่งกันเก็บเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตัวเองเป็นที่สนุกสนาน
      หลังจากนั้นบรรดาผู้เล่าผีตาโขนจะนำชุดและอุปกรณ์ที่ใช้เล่นไปทิ้งลงแม่น้ำหมัน ถือเป็นการลอยเคราะห์ให้ไหลล่องไปกับแม่น้ำ ( แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเก็บไว้ใช้ประดับบ้านหรือเก็บไว้ใช้อีกในปีหน้า )
     
      วันที่สาม   เทศน์มหาชาติ
      จะเป็นการฟังเทศน์มหาชาติตั้งแต่เช้ามืดเพื่อกล่อมเกลาจิตใจและได้อานิสงส์ผลบุญอันแรงกล้า เป็นอันเสร็จพิธี
       การละเล่นผีตาโขน
      ผีตาโขนแต่งกายด้วยชุดที่ทำจากเศษผ้านำมาเย็บติดกัน มี "หมากกะแหล่ง" (ลักษณะคล้ายกระดิ่ง ใช้แขวนคอกระบือ) หรือกระดิ่ง กระพรวน กระป๋องผูกติดกับบั้นเอว แขวนคอ หรือถือเคาะเขย่า เพื่อให้เกิดจังหวะและมีเสียงดังเวลาเดินแบบขย่มตัว ส่ายสะโพก โยกขา และขยับเอว ผีตาโขนทุกตัวจะมีอาวุธประจำกาย เป็นดาบ หรือง้าวซึ่งทำจากไม้เนื้ออ่อนโดยจะทำให้มีลักษณะคล้ายอวัยวะเพศชายและทาสีแดงตรงปลายเอาไว้หยอกล้อเพื่อให้เกิดความตื่นเต้น ขบขัน และสนุกสนานมิได้ถือเป็นเรื่องอุจาดลามกหรือหยาบคายแต่อย่างใด
 
      ส่วนหน้าของหน้ากากผีตาโขนทำด้วยหวดนึ่งข้าวเหนียว นำมาหักพับขึ้นให้มีลักษณะคล้ายหมวก ส่วนหน้าทำจากโคนก้านมะพร้าว ถากเป็นรูปหน้ากาก แล้วเจาะช่องตา
      สำหรับจมูกของผีตาโขนนั้น ในสมัยก่อนจะมีขนาดเล็กคล้ายจมูกของคนธรรมดาทั่วไป แต่ในปัจจุบันมักทำในลักษณะยาวแหลมคล้ายงวงช้าง โดยทำจากไม้นุ่นซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อน นำมาแกะเป็นรูปทรงต่างๆ
      ส่วนเขาทำมาจากปลีมะพร้าวแห้ง นำมาตัดเป็นขนาดและรูปทรงตามที่ต้องการ การประกอบส่วนต่างๆ ของหน้ากากนั้น ส่วนหัว หน้า และเขา ก็จะใช้เชือกเย็บติดให้เข้าด้วยกัน
      ส่วนจมูกจะยึดติดกับหน้ากาก โดยจะใช้ตะปูตียึดจากด้านใน การตกแต่งลวดลายต่างๆ ในปัจจุบันนิยมใช้สีน้ำมันในสมัยก่อนที่ยังไม่ใช้สีน้ำมัน จะใช้สีจากธรรมชาติ เช่น ขมิ้น ปูนขาว ขี้เถ้า ปูนแดง เขม่าไฟ เมื่อตกแต่งลวดลายเสร็จแล้ว ด้านหลังจะใช้เศษผ้าเย็บต่อจากหน้ากากและหวดให้คลุมส่วนคอจนถึงไหล่
     
      การทำหน้ากากผีตาโขนเป็นงานศิลปะพื้นบ้าน ที่ถูกถ่ายทอดสู่ลูกหลานรุ่นแล้วรุ่นเล่า โดยมีรูปแบบที่หลากหลายตามจินตนาการของผู้ทำและตามอิทธิพลต่างๆ ที่ได้รับ แต่ก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นผีตาโขนไว้ได้เป็นอย่างดี
เชิญผู้สนใจที่จะเที่ยวชมงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน ประจำปี 2552  ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี  เพื่อเป็นการอนุรักษ์    สืบสานศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม ของท้องถิ่น  ไปสู่ประชาชนทั่วไป  รวมทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ  และเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว  ส่งเสริมอาชีพและรายได้ของประชาชนชาวอำเภอด่านซ้ายตลอดจนสร้างความรักความสามัคคี  ความรักหวงแหนในวัฒนธรรมพื้นบ้าน งานใน   ปีนี้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 26-28 มิถุนายน 2552 รวม 3 วัน